ทัศนะคติมหายานที่แฝงอยู่ในพระพุทธศาสนาเถรวาท ที่ปรากฏในเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศเมียนร์มาร์

11 มกราคม 2019, 10:48:35

“ทัศนะคติมหายานที่แฝงอยู่ในพระพุทธศาสนาเถรวาท” ที่ปรากฏในเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศเมียนร์มาร์



“ทัศนะคติมหายานที่แฝงอยู่ในพระพุทธศาสนาเถรวาท”

ที่ปรากฏในเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศเมียร์มาร์ วันที่ ๑๑–๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๖


โดย ชิษณุพงษ์ พิบูลย์



 


มโนทัศน์ (Concept) พื้นฐานของพระพุทธศาสนามหายานวางอยู่บนรากฐานของปัญญา ซึ่งนำมาสู่กรุณาหรือมหากรุณาที่ยิ่งใหญ่หรือแม้แต่ในทางกลับกันคือโดยเริ่มต้นที่กรุณาอันผ่านการพิจารณาด้วยปัญญาที่ถูกต้องก็สามารถนำไปสู่ปัญญาที่ยิ่งใหญ่ได้ในภายหลัง ในส่วนของปัญญาประกอบด้วย ๔ ส่วนหลักด้วยกันคือ ๑. ปรัชญาปารมิตาสูตร ๒. มัธยมกะ ๓. จิตตมาตรา ๔. ตถาคตครรภะ (พุทธภาวะ/ธรรมชาติแห่งพุทธะ) และในส่วนของกรุณาประกอบด้วย ๔ ส่วนหลักๆ เช่นกันคือ ๑. สัทธรรมปุณฑรีกสูตรและอานุภาพ ๒. กายของพระพุทธเจ้า ๓. มรรคแห่งพระโพธิสัตว์ ๔. ศรัทธาและภักติ

จากการพื้นฐานทางพระพุทธศาสนามหายานดังกล่าว เราจึงพยายามมองหาร่องรอยมโนทัศน์เหล่านี้ในพระพุทธศาสนาเถรวาทในเชียงตุง อันเป็นดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาเถรวาทและเป็นดินแดนล้านนาดั้งเดิม

ในภาษาล้านนา คำว่า “พระเจ้า” เป็นคำที่ใช้แทนสิ่งสูงสุด โดยเราแปลเอาเองว่า คำว่า “God” แปลว่า “พระเจ้า” ไม่ต่างอินเดียที่แปลคำว่า “God” ว่า “อินทระ” ฉะนั้นคำว่า “พระเจ้า” ในทัศนะคติของชาวล้านนาหรือแม้กระทั่งภาษาล้านนานั้นอ้างถึงสิ่งสูงสุดหรือพระพุทธเจ้า ในอีกทางหนึ่งตามก็มีทัศนะคติที่เชื่อว่าพระพุทธองค์นั้นยังทรงมีชีวิตอยู่ในลักษณะต่างๆ ผ่านองค์พระพุทธรูปซึ่งถูกใช้เป็นสัญญะ ฉะนั้นโดยมโนทัศน์พื้นฐานทางพระพุทธศาสนาของชาวเชียงตุงนั้นเห็นว่าพระเจ้าหรือพระพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่ อันเนื่องจากอิทธิพลทางความคิดของพระพุทธศาสนามหายาน ฉะนั้นมโนทัศน์นี้คือแกนหลักสำหรับข้อเขียนนี้

๑. ภาคปัญญาในพระพุทธศาสนามหายาน

๑.๑ ปรัชญาปารมิตาสูตร ภาคปัญญาในพระพุทธศาสนามหยาน ที่แฝงอยู่ในพระพุทธศาสนามหายานในเชียงตุงนั้นแสดงผ่านความเชื่อเรื่องการบูชาสถูปและพระสารีริกธาตุ พระเจ้า/พระโพธิสัตว์ ดังจะเห็นได้จาก เมื่อพูดถึงพระสูตรมหายาน มักจะโยงไปถึงสมมติฐานที่เป็นธรรมชาติของหนังสือที่ตำราเหล่านั้นตั้งคำถาม ดังเราจะพบว่า เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่ตัวพระสูตร แต่อยู่ที่กายของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นการเน้นไปที่การเฉลิมฉลองบูชาเหมือนกับการบูชาพระสารีริกธาตุ แม้ว่าการบูชาสถูปหรือพระสารีริกธาตุจะปราดฏอยู่ในทัศนะคติทั้งพระพุทธศาสนาเถรวาทและพระพุทธศาสนามหายาน หากแต่ทัศนะคติพระพุทธศาสนามหายานนั้นเน้นสิ่งเหล่านี้มากกว่าทัศนะคติที่ยึดในตัวบทอย่างพระพุทธศาสนาเถรวาท

ในเชียงตุง เราพบมโนทัศน์เกี่ยวกับการบูชาพระสารีริกธาตุอยู่หลายแห่ง เช่น วัดพระธาตุจอมสลี (คำว่า ‘สลี’ แปลว่า ต้นโพธิ์) ที่นี้มีความเชื่อว่าที่ใต้ฐานศาลาวัดมีพระเกศธาตุกับพระพุทธทองคำอยู่ ซึ่งด้านบนฐานภายในศาลาวัดเช่นกันปรากฏสถูปติดทองสวยงาม

เหตุที่แนวคิดหรือมโนทัศน์นี้ตั้งอยู่ในส่วนของปัญญาเป็นเพราะการกล่าวถึงแก่นแท้ของศาสนาซึ่งตั้งอยู่บนฐานของการปฏิบัติ เป็นผลผลิต และเป็นเครื่องนำทางไปสู่ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ โดยอ่านเครื่องมือประเภทต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการสวดหรือการอ่านออกเสียงอันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมาแต่โบราณ กล่าวคือการอ่านเสียงหรือการสวดเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และตัวบทให้กระชับแนบแน่นขึ้น ฉะนั้นการจะเริ่มต้นบูชาสิ่งใดให้ครบถ้วนสมบูรณ์ด้วยปัญญานั้นจึงหลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องเข้าใจตัวบทและใกล้ชิดกับตัวบทจนสนิทสนมถึงขั้นเบื่อหน่ายแล้วจะก้าวพ้น นั่นยิ่งทำให้ปัญญาพอกพูน เหล่านี้คือการเริ่มต้นบนฐานที่มั่นคง เช่นเดียวกัน ในวัดเมืองนาย ที่เชียงตุง ก็ปรากฏอย่างชัดเจน เพราะที่วัดแห่งนี้เป็นที่รวมการเรียนธรรมะของรัฐฉาน วัดนี้เป็นวัดแบบไทใหญ่ เหล่าสามเณรอยู่ในกฎระเบียบที่เคร่งครัด เสียงสวดปนเสียงอ่านออกเสียงตอนทำวัตรเย็นนั้นไพเราะ นุ่นนวล และทรงพลัง ทำนองสวดหรือการอ่านออกเสียงของเหล่าสามเณรนั้นคล้ายการคลอบทเพลง ซึ่งแตกต่างจากการสวดของพระเถรวาทในไทย อีกทั้งภายในศาลาวัดเมืองนายแห่งนี้ยังปรากฏภาพปริศนาธรรม ซึ่งความเป็นภาพปริศนาธรรมนั้นค่อนข้างจะเป็นทัศนะคติของพระพุทธศาสนามหายานตามแบบจีนหรือญี่ปุ่น เป็นต้น

๑.๒ มัธยมกะ

พระโพธิสัตว์ ผู้ที่ประพฤติตนอยู่ในปรัชญาบารมี จะเห็นสภาวะที่แท้จริงแห่งธรรมะที่สอน โดยท่านอารยนาคารชุน ซึ่งเข้าใจพระคัมภีร์อย่างถ่องแท้ในคัมภีร์มาธยมกะโดยการใช้เหตุผลและข้อมูลทางคัมภีร์ นี่คือธรรมชาติอันแท้จริงแห่งธรรมะที่กำหนดหมายด้วยการไม่มีอยู่แห่งสิ่งถาวร 

มัธยมกะเห็นถึงลักษณะที่เป็นอัตวิสัยแห่งความคิด ซึ่งนำมาสู่ปรากฏการณ์ทั้งมวลที่เป็นมายา เมื่อตระหนักรู้ถึงสิ่งเหล่านี้ได้ก็จะนำไปสู่การเกิดของปรมัตถสัจจ์ (ความจริงสูงสุด/การหลุดพ้น) (ซึ่งสภาวะที่เป็นปรากฏการณ์หายไป อันเนื่องมาจากการสิ้นไปแห่งจินตนาการที่เป็นอัตวิสัย) โดยอาศัยการโต้วาที/ตรรกะ/การอ้งเหตุผลโดยการปฎิเสธการมีอยู่ของสิ่งทั้งปวงเป็นเครื่องที่นำผู้คนไปสู่ความจริงสูงสุด/การหลุดพ้นที่ไม่มความแตกต่างแห่งปรากฏการณ์กับปรมัตถ์ ฉะนั้นความจริงในพระพุทธศาสนามหายานนั้นจึงแบ่งออกเป็น ๒ ระดับคือระดับสัมวฤตสัตยะและปรมาตถสัตยะ

สัมวฤตสัตยะ เป็นความจริงที่เป็นมายาในระดับปรากการณ์หรือโลกที่ปรากฏต่อเรานี้ ภายในโลกที่ปรากฏแห่งนี้ยังอิงอาศัยกับภาษาที่เราใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน หากแต่หลักการของภาษานั้นอิงอาศัยอยู่กับการอ้างถึงสิ่งซึ่งอิงอาศัยกันและกันและอ้างถึงความแตกต่าง เพื่อเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงปรมาตถสัตยะ

ในเชียงตุง แน่นอนว่าเราต้องพบการใช้ภาษาในลักษณะเช่นนี้ เช่น นิ้วหนึ่งยาวกว่าอีกนิ้วเพราะอาศัยอีกนิ้วที่สั้นกว่าเป็นตัวอิงอาศัยหรือเปรียบให้เห็นความต่าง เป็นต้น หากแต่ทัศนะคติที่มองโลกที่ปรากฏหรือปรากฏการณ์เป็นเพียงมายานั้น ปรากฏให้เห็นอย่างน้อยโดยแสดงออกผ่านศรัทธา การทำบุญ และการดำรงชีวิตอยู่เพื่อศาสนา แม้นระบบการเมืองการปกครองตามระบอบเผด็จการทหารจะคอยกดขี่วิถีของชาวเชียงตุงและชาวเมืองอื่นๆ อยู่เสมอ พวกเขาต่างดำรงชีวิตราวกับว่าปราฏการณ์เหล่านี้เมื่อผ่านเข้ามาก็ให้มันผ่านไปเหมือนมายา เช่น นาที่ว่างเปล่าร้างจากการดำเพราะไม่มีแรงงานหนุ่มสาวที่ไปทำงานตามเมืองใหญ่จะถูกยึดโดยรัฐ ไม้สักประชาชนห้ามตัด แม้จะขึ้นในบ้านของต้น หรือแม้แต่ตนจะปลูกเอง พอไม้สักโตได้ขนาดรัฐก็จะปักไปเป็นของตน การปล้นชิงโดยรัฐเสมอ ทั้งหมดทั้งมวลนี้พึ่งมาดีขึ้นเมื่อสองสามปีที่ผ่านมานี้เอง เนื่องจากการเปิดประเทศและคนรุ่นใหม่ในประเทศนี้มีความรู้มากขึ้น จนไม่ยอมตกเป็นทาสเช่นนี้อีก พวกเขาพึ่งสามารถเรียกร้องการใช้ไฟฟ้าจากรัฐได้ นั่นถือว่าเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งในชีวิตพวกเขา เป็นต้น ปรากฏการณ์เหล่ามิได้บั้นทอนแม้จะไม่มีไฟฟ้า เหล่าพระสงฆ์สามารถเณรก็สวดมนต์อ่านหนังสือกันภายใต้แสงเทียนกันมานานนม เพื่อก้าวเข้าสู่ความจริงสูงสุด

ปรมาตถสัตยะคือความจริงสูงสุด ซึ่งเป็นลักษณะของการไม่มีเงื่อนไข ความสงบ ไม่มีการแบ่งแยกและไม่มีความแตกต่าง

โดยแก่นแล้วความจริงระดับสัมวฤตสัตยะและปรมาตถสัตยะมิได้มีความแตกต่างกันและมิได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นาคารชุนเขียนไว้ในมูลมัธยกกริกาว่า “สัมสาระโดยแก่นแท้แล้ว ก็มิได้แตกต่างจากพระนิรวาณ พระนิรวาณโดยแก่นแท้แล้วก็มิได้แตกต่างจากสังสาระ” ท่านนาคารชุนได้กล่าวอีกว่า “ธรรมชาติของพระตถรคตก็คือธรรมชาติของสิ่งแบบโลกๆ พระตถาคตก็มีอยู่โดยปราศจากการมีอยู่ด้วยตัวเอง (สวภาวะ) ในและสิ่งต่างๆ ในโลกก็มีธรรมชาติเหมือนกัน

ช่วงเปลี่ยนผ่านหรือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อแห่งยุตสมัย หากมองโลกในแง่ดีนั้น คนรุ่นเก่าในเชียงตุงเหมือนจำยอมเพราะวิธีคิดแบบ คำว่า “จากตัวเอง” หมายความว่า จากธรรมชาติอันเป็นสารัตถะของพวกเขา และการที่สิ่งไม่เกิดขึ้นจากธรรมชาติอันเป็นสารัตถะของตน เนื่องจากว่า (i) การเกิดขึ้นอย่างนั้นเป็นไปอย่างไร้จุดหมาย (ii) จะนำไปสู่ความเสียใจอย่างไม่สิ้นสุด ถ้าแก่นแท้เป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างจำเป็น (คือโดยตัวเอง) ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างอะไรขึ้นมา และถ้าแก่นแท้ซึ่งมีอยู่โดยตัวเองถูกสร้างขึ้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะอ้างว่า สิ่งดังกล่าวไม่ได้ถูกสร้างขึ้น ดังนั้น การเกิดขึ้นจึงมิได้เกิดขึ้นจากตัวเอง เมื่อยุคสมัยใหม่ คนรุ่นใหม่มองว่ามนุษย์มีศักยภาพในการพัฒนาตัวเอง สามารถกระทำสิ่งต่างๆ ได้มากมาย แม้โดยภาพรวมจะต่างกัน แต่ทั้งสองหลักการก็ยืนอยู่บนพื้นฐานทางที่ไม่ต่างกัน แต่หลักการทั้งก็คือหลักการของพระพุทธศาสนา เช่นเดียวกับที่เราเห็นจากทัศนะคติการมีและการไม่มีชีวิตอยู่ของพระพุทธเจ้า ราวกับไม่มีข้อแตกต่างระหว่างสังสารวัฏ (วงจรของการเวียนว่ายตายเกิด) กับพระนิรวาณ และไม่มีข้อแตกต่างระหว่างพระนิรวาณกับสังสารวัฎ ข้อจำกัดของพระนิรวาณ คือ ข้อจำกัดของสังสารวัฏ ในระหว่างทั้ง ๒ สิ่ง ไม่มีข้อแตกต่างกันสักนิดหนึ่งเลย

๑.๓ จิตตมาตรา

ไตรสภาวนิรเทศ คือคำสอนที่มีความสำคัญต่อปรัชญาจิตตมาตรา คือคำสอนเรื่องธรรมชาติหรือระดับความจริง ๓ อย่าง (๑) ธรรมชาติที่เป็นมายาหรือที่เสริมแต่ง (ปริกัลปิตะ) (๒) ธรรมชาติที่อิงอาศัยกันหรือสัมพันธ์ (ปรตันตะ) (๓) ธรรมชาติที่สมบูรณ์หรือสูงสุด (ปรินิษปันนะ)

ธรรมชาติ ๓ อย่างเหล่านี้อาจเปรียบเทียบได้กับสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้ (ก) ความเชื่อผิดๆ ที่ว่าพยับแดดนั้นมีน้ำอยู่ (ข) ปรากฏการณ์แห่งพยับแดดเกิดขึ้นเพราะอาศัยสาเหตุและสภาพเงื่อนไขทางสิ่งแวดล้อม (ค) ธรรมชาติที่ว่างของพยับแดดตราบเท่าที่พยับแดดเป็นสิ่งที่มีเงื่อนไข เป็นสิ่งสัมพันธ์ และขึ้นอยู่กับสาเหตุและเงื่อนไข

คำสอนในสันธินิรโมจนสูตรที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างคือจิตนั้น นำมาใช้เนื้อหาของการสนทนากัมมัฎฐาน มีผู้ทูลถามพระพุทธองค์ว่า ภาพที่เราเห็นในกัมมัฏฐานแตกต่างจากจิตหรือไม่? คำตอบคือไม่ ภาพนั้นเป็นแค่การรับรู้ (วิชญาณปติมาตรา; ความหมายนี้ดูใน Hall, 1986) ถึงกระนั้นคนทั่วไปเห็นว่า ในโลกนี้มีวัตถุต่างๆ และวัตถุเหล่านั้นอยู่ภายนอกจิต สิ่งเหล่านั้นมิได้แตกต่างไปจากจิตดอกหรือ? พระพุทธองค์ตอบว่า มิได้มีความแตกต่างกันเลย แต่คนที่ยังมีความหลงผิด ที่ยังไม่รู้แจ้ง จะไม่เข้าใจถึงคำสอนเรื่อง ‘เพียงแค่การรับรู้’

สำหรับจิตมาตรา ผู้เขียนยังมองไม่ร่องรอยใดๆ ในเชียงตุงหรือวิถีความเป็นเชียงตุง อาจเพราะผู้เขียนไม่ได้ลงมือปฏิบัติหรือร่ำเรียนกัมมัฏฐานที่นี้หรือในที่ใดๆ

๑.๔ ตถาคตครรภะ (พุทธภาวะ/ธรรมชาติแห่งพุทธะ)

ธรรมกาย ก็คือ ‘กายแห่งธรรม’ ของพระพุทธเจ้า คือสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงมีในพระองค์เอง สิ่งที่พระองค์ทรงเป็นจริงๆ พูดอีกอย่างหนึ่ง โดยทั่วๆ ไป หมายถึง ความจริงหรือภาวะอันสุดท้าย อันแท้จริง อันสูงสุดของสิ่งทั้งปวง ธรรมกาย คือ

สิ่งที่ไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่ถูกสร้าง ไม่เกิด ไม่ตาย เป็นอิสระจากความตาย เป็นสิ่งคงที่ มั่นคง สงบ มีอยู่ตลอดกาล บริสุทธิ์อย่างสิ้นเชิง อิสระจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง มาพร้อมกับธรรมชาติแห่งพระพุทธเจ้าซึ่งมีจำนวนมากกว่าเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา เป็นสิ่งที่แบ่งแยกไม่ได้ รู้จักกันว่าเป็นสิ่งที่หลุดพ้นและรับรู้ไม่ได้ทางผัสสะ ธรรมกายของพระตถาคตที่ไม่อิสระไปจากกองกิเลสได้รับการอ้างถึง คือ ตถาคตครรภะ

ที่วัดพระเจ้าหลวง พระพุทธมหามัยมุนี (จากรามัญวงศ์แล้วมาเป็นลังกาวงศ์) จำลองมาจากวัดที่ มัณฑเลย์ รัฐยะไข่ มีทัศนะคติเกี่ยวกับการมีอยู่/มีชีวิตอยู่ของพระเจ้าหรือพระพุทธเจ้า โดยแสดงผ่านพิธีกรรมการล้างหน้าพระเจ้า การแปรงฟันพระเจ้า การทรงเครื่องพระเจ้า และการถวายข้าวพระเจ้า โดยการถวายข้าวพระเจ้าผ่านสัญญะที่คือพระพุทธรูปก่อนแล้วจึงถวายพระสงฆ์ ซึ่งเป็นทัศนะคติของพระพุทธศาสนามหายาน ในขณะเดียวผู้เขียนสังเกตเห็นการใช้ช่องกระจกเป็นทรงกงล้อหรือธรรมจักรอันเป็นสัญญะของพระพุทธศาสนาเถรวาท จากนั้นก็มีการบูชาดอกไม้ทิพย์เพื่อบูชาพระพุทธมหามัยมุนี กอปรกับจิตรกรรมฝาผนังปรากฏภาพเทวดาถวายดอกไม้ และมีผู้คนชาวเชียงตุงบางส่วนนั่งสมาธิแบบนับประคำ บ่าพาดผ้าที่มีสัญญะของกงล้อ (แล้วกวางหมอบ? ณ. ตอนนี้ทุกอย่างดูลงตัวเสียจนเห็นว่าการกระทำใดๆ ล้วนมีความหมายและวิธีการคิดซุกซ่อนตัวอยู่)

๒. ภาคกรุณาในพระพุทธศาสนามหยาน

๒.๑ สัทธรรมปุณฑรีกสูตรและอานุภาพ

พระพุทธศาสนาสายจีน–ญี่ปุ่นเชื่อว่าสัทธรรมปุณฑรีกสูตร คือคำสอนชุดสุดท้ายของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งพระองค์ตรัสก่อนที่จะเข้าสู่ปรินิรวาณ ในเนื้อหาของพระสูตรนี้พระองค์ได้ทรงลับหายไปจากการมองเห็นของมนุษย์ จากการได้เห็นทัศนะคติที่วัดพระเจ้าหลวงและทัศนะคติที่มีต่อพระพุทธมัยมุนีแล้ว เสมือนว่าทัศนะคติดังกล่าวมิได้มองเช่นเดียวกับสัทธรรมปุณฑรีกสูตรที่เกิดกับพระพุทธศาสนาสายจีน–ญี่ปุ่น

หากแต่สิ่งที่น่าสนใจคือสิ่งที่ Pye (1978) กล่าว “ถ้าเรารู้ว่าสัจธรรมเป็นสิ่งสัมพันธ์ ความขัดแย้งก็จะละลายหายไปเอง” มันเป็นร่องรอยของการคิดแบบหลังสมัยใหม่ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงสิ่งหนึ่งที่โรงแรมแสงทิพย์ ซึ่งประดับไปด้วยรูปภาพครอบครัวและบรรพบุรุษ อันแสดงเคารพบรรพบุรุษตามแนวคิดขงจื้อ และณุปภาพเจ้าแม่กวมอิม พระสังขะจาย รวมถึงรูปปั้นประธานเหมาฯ ทั้งนี้ถ้าเริ่มจากการมองว่าครอบครัวเจ้าของโรงแรมมีเชื้อสายคนจีนแล้วเดินทางมาอยู่ที่นี้ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ การรวมตัวของสัญญะอันหลากหลายนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดา หากแต่ถ้ามองในเรื่องความขัดแย้งกันภายในก็มันก็พอจะเห็นรอยแห่งความขัดปรากฏอยู่ หรือแม้กระทั่งการนำคำของ Pye มารองรับสิ่งเหล่านี้ โดยตัวผู้เขียนเอง

หัวข้อหลักของครึ่งแรกของสัทธรรมปุณฑรีกสูตร คือความฉลาดในวิธีการของพระพุทธเจ้า คำสอนเรื่องเอกยานและความบันเทิงเบิกบานของพระสาวก หลังพบว่าตนจะต้องได้บรรลุพุทธภาวะที่สมบูรณ์ แต่ก็ไม่มีพูดถึงเป้าหมายเช่นพระอรหันต์หรือความเป็นปัจเจกพุทธเจ้าเลย ในขณะที่เรากำลังอยู่ในส่วนแรกของสัทธรรมปุณฑรีกสูตรก็มีเหตุการณ์เหนือธรรมดาหลายอย่างเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่บ่งบอกล่วงหน้าคือ เนื้อหาที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในส่วนที่ ๒ ของพระสูตร สิ่งที่ทำให้ที่ประชุมสนใจคือสัทธรรมปุณฑรีกสูตรพยากรณ์ถึงการปรากฏขึ้นของพระพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งซึ่งเป็นอดีตพุทธเจ้า แต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันมาก่อนพระนามว่า ประภูตรัตนะ (บทที่ ๑๑) พระพุทธเจ้าองค์นี้จะปรากฏอยู่ในพระเจดีย์ที่ลอยอยู่ในอากาศ พระองค์รับว่าจะมาปรากฏพระองค์ทุกๆ ครั้งที่มีการสวดสัทธรรมปุณฑรีกสูตร จำนวนครั้งของการยืนยันสามารถเห็นได้ดังต่อไปนี้ ประการที่ ๑ สัทธรรมปุณฑรีกสูตรไม่ใช่ของใหม่ การสั่งสอนพระสูตรนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของพุทธกิจของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ประการที่ ๒ ในเวลาเดียวกัน ภูมิภาคเดียวกัน สามารถมีพระพุทธเจ้าได้มากกว่า ๑ ประการที่ ๓ ซึ่งสำคัญที่สุดคือ มีการปฏิเสธคำสอนหลักที่ยอมรับกันในกลุ่มที่มิใช่มหายาน คือคำสอนที่ว่าพระพุทธเจ้าหลังจากปรินิพพานหรือการปรินิพพานที่ปรากฏของพระองค์ได้ดับโดยไม่เหลือ พ้นที่จะบอกเล่าหรืออ้างอิงใดๆ ความจงใจหรือความประสงค์ใดๆ ที่มองในแง่ที่ว่าจะเหลือสภาพเป็นบุคคลอยู่ ย่อมจะต้องสูญสิ้นไปเพราะพระประภูตรัตนะเอง แม้จะยอมรับว่าได้ปรินิพพานไปแล้ว ถึงกระนั้นก็ยังปรากฏพระองค์ให้เห็นได้อย่างชัดเจน

เราพอจะสามารถเห็นทัศนะคติเหล่านี้ผ่านตำนาน เรื่องเล่า และประเพณีในเชียงตุง เช่น ประเพณีทาน (ถวาย) น้ำอ้อยของหนุ่มสาวและพ่อเรือนแม่เรือนที่ถือกันว่าเป็นประเพณีสำคัญของคู่ชีวิต การจิต้นแปก (จุดต้นเกี้ยะหรือต้นสน) เป็นการจุดต้นเกี๊ยะเป็นพุทธบูชา การจิไฟก๊อกพัน เป็นการจุดโคมไฟเป็นพุทธบูชา ปล่อยกุมไฟ (โคมไฟ) โคมไฟขนาดใหญ่ทำด้วยกระดาษสาตั้งแต่ ๔๐๐–๕๐๐ แผ่น พร้อมอ่านซอกุ่มไฟ การแถบกลอง ประเพณีการแขวนกลอง ประเพณีการทานกองทราย (ถวายกองทราย) เป็นต้น

๒.๒ กายของพระพุทธเจ้า

การเน้นในเรื่องธรรมกายของมหายานในตอนเริ่มต้น มิใช่เป็นการแยกตัวในเชิงอภิปรัชญาหรือทำให้พระพุทธเจ้ากลายเป็นเทพ แต่เป็นการต่อเนื่องกันตลอดสายแนวคิด การปฏิบัติต่อรูปกายของพระพุทธเจ้าในทางมหายาน ในตรีกายได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับปาฏิหาริย์ของพุทธภาวะ อันเป็นการชดเชยต่อการดับขันธ์ทางร่างกายของพระสิทธัตถะโคตมะ

วัดบ้านแสน ปรากฏแนวคิดผ้ามูจะนะ (ผ้าเช็ดหน้า) ที่ถวายให้พระพุทธเจ้าทุกเช้ามืด เสมือนพระพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่ไม่ต่างจากวัดพระเจ้าหลวง

วัดหล้าเมือง ปรากฏมีอุโบสถ์อายุประมาณ ๑๔๐ ปี ซึ่งไม่เหมือนกับอุโบสถ์ที่อื่นคือไม่มีผนัง ฐานเป็นรูปกลีบบัว ภายในพระวิหารมีการห่มผ้าพระพุทธเจ้า

วัดอินทบุพพาราม นอกจากวิหารที่วิจิตรงดงามแล้ว ปรากฏภาพเขียนต้นกัลปพฤกษ์หรือสลากภัณฑ์ที่ตัวต้นไม้ประดับประดาไปด้วยธนบัตรและเพชรนิลจินดา มีบาตรพระพุทธเจ้าคว่ำอยู่ ในวันพระจะใส่บาตรพระพุทธเจ้าก่อนใส่บาตรพระสงฆ์ มีเจดีย์อยู่ในพระวิหาร โดยมีพระเจ้าเลียบโลกล้อมรอบตัวเจดีย์ สามเณรถือและจับเงินได้ สัญญลักษณ์กระต่ายกับนกยูงตามคติไตรภูมิแบบเมียร์มาร์ พระพุทธรูปเกศาดำ เป็นต้น

ลักษณะประการสุดท้ายของสัทธรรมปุณฑรีกสูตรที่เราสังเกตเห็น ซึ่งได้กลายเป็นหลักปฏิบัติของชาวพุทธในเอเชียตะวันออกโดยเฉพาะ นั่นคือการเผาร่างกาย บทที่ ๒๓ ของสัทธรรมปุณฑรีกสูตรได้บรรยายถึงพระไภสัชชราชโพธิสัตว์ ในอดีตชาติได้ตั้งจิตปรารถนาที่จะได้ถวายสิ่งที่ดีที่สุดแด่พระพุทธเจ้า ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้จุดไฟเผาร่างกายของท่านเพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชา ไฟได้ไหม้ร่างกายท่านเป็นเวลานานและในที่สุดท่านก็ได้ไปเกิดในแดนบริสุทธิ์ ‘ดูกรสาธุชน นี้เรียกได้ว่าเป็นทานอย่างยิ่ง’ 

เนื่องจากปัญหาทางการเมืองในประเทศเมียร์มาร์ พระสงฆ์จำนวนหนึ่งได้ทำการอัตวินิบาตกรรมเพราะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดและการกระทำของรัฐที่มีต่อประชาชนและพระสงฆ์หัวก้าวหน้า (ประชาธิปไตย) ตามที่เห็นกันตามข่าว หากแต่กรณีของบทที่ ๒๓ ที่สัทธรรมปุณฑรีกสูตรนั้นต่างออกไป การทำอัตวินิบาตกรรมเป็นบาปตามเงื่อนไข “ปาโณ” หากแต่ถ้าเป็นการกระทำของพระอรหันต์และการทำเพื่อศาสนานั้นไม่ถือว่าเป็นบาปตามที่อ้างอิงข้างต้น จากตรงนี้เราจะกล่าวได้หรือไม่ว่าการอัตวินิบาตกรรมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมนุษย์นั้นคาบเกี่ยวกับศาสนาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากแต่ความเป็นอรหันต์นั้นเป็นเรื่องยากได้การจะกล่าวได้ใน ณ. ที่นี้ แม้นในเชียงตุงผู้เขียนจะไม่ทราบว่าเคยปรากฏสิ่งเหล่านี้ขึ้นหรือไม่ แต่ในเมียร์มาร์ตามรัฐ–ชาติก็ถือว่าได้ก่อกำเนิดความใกล้เคียงและเป็นไปได้ขึ้นมาบ้างแล้ว

๒.๓ มรรคแห่งพระโพธิสัตว์

ในทางมหายานไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสิ่งสูงสุด (Absolute) เลย ถ้าจะมีอยู่ สิ่งนั้นคือกรุณาและกรุณาที่ว่ามิใช่สิ่งสูงสุดในเชิงภววิทยา แต่เป็นสิ่งสูงสุดในทางจริยศาสตร์สำหรับมหายาน

วัดพระสิงห์ ครูบาเสือรักษาโรคทั้งทางกายและทางใจผ่านเมตตากรุณา/การแผ่เมตตา อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการจัดการกับอารมณ์ ซึ่งถือว่ามีส่วนในการก่อให้เกิดโรค นอกจากกรรมเก่าที่ติดตัวมานั้นรักษามิได้ จากตรงนี้อย่างน้อยที่สุดก็จะเห็นได้ว่าความเมตตากรุณานั้นเกาะเกี่ยวไปจนถึงการรักษาโรคปัจจุบัน

ความกรุณาอันนี้คือพื้นฐานแห่งพลังกระตุ้นให้กับพระโพธิสัตว์และจากกรุณานี่เองคุณธรรมต่างๆ ของมหายานก็เกิดขึ้น

วัดจอมคำ พระสงฆ์ส่วนหนึ่งไม่ใช้ผ้ารองรับของจากสตรี ตามคติเดิมนั้นการใช้ผ้ารองรับของจากสตรีนั้นแฝงเรื่องการเบียดขับ/ขัดผู้หญิงออกจากศาสนา ในส่วนนี้สะท้อนถึงการให้พื้นที่ทางศาสนากับสตรีด้วยกรุณา

ซึ่งอาจจะดูขัดกับที่วัดธรรมวงศ์ ศิลปะเชียงแสน ปรากฏพระสังฆจาย ผู้ชายสูบบุหรี่ในวิหารได้ นอกวิหารผู้หญิงเล่นการพนันในวัดได้อย่างเปิดเผย ดูราวกับว่าผู้หญิงทำตัวหรือถูกทำให้อยู่ในพื้นที่ของของอบายมุข อันต่างกับผู้ชายที่สามารถยกระดับตัวเองได้ด้วยอย่างน้อยก็การบวชเรียน

๒.๔ ศรัทธาและภักติ

พระพุทธองค์ตรัสว่า เราไม่จำเป็นต้องเชื่อในบางสิ่งเพราะเคารพในพระองค์ แต่ให้เชื่อเพราะสิ่งนั้นมีเหตุผล

วัดหัวข่วง เป็นวัดหลักในเชียงตุง ซึ่งให้ความสำคัญกับการอบรบสั่งพระสงฆ์ … ซึ่งมีทำนองในการสวดต่างกันกับชาวล้านนาในเชียงใหม่ ปรากฏภาพต้นกัลปพฤกษ์ ดูผิวเผินคล้ายต้นคริสต์มาสรวมถึงสลากภัณฑ์ สิ่งสำคัญคือบูรณฆฏะ (หม้อที่แสดงความสมบูรณ์ หม้อที่แสดงถึงความเจริญรุงเรืองของพระพุทธศาสนาในล้านนา และหม้อที่เปี่ยมไปด้วยปัญญาและศรัทธาบารมีที่ใช้สักการะองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ตัวหม้อจะเขียนสัญญะทางศาสนา เช่น ช้าง หมายถึง การปฏิสนธิตอนพุทธมารดาทรงสุบินเป็นช้างเผือก รูปดอกบัวเจ็ดดอก หมายถึง การประสูติของพระพทุธเจ้า เป็นต้น

พระธาตุป้านเมือง เกิดจากแรงอธิษฐานของตุงคะฤาษี ในวันพระ ชาวบ้านจะหยุดงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานเกษรตรกรรมและกินเจ

วัดป่าแดง มีโต๊ะหมู่บูชาที่ได้อิทธิพลจากไทย วิหารของวัดสายป่าแดงจะสามารถเดินอ้อมหลังพระประทานได้ ต่างจากวัดสายสวนดอกที่พระประทานจะติดกับผนัง แม่พระธรณีเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์บนตุง มีอาชีพทำตุง (ซึ่งเป็นคติทางศาสนาที่กลืนกลายไปกับวิถีชีวิต) วัดป่าแดงมีศรัทธาที่ร่ำรวยที่สุดในเชียงตุง สัญญลักษณ์กระต่ายกับนกยูงเป็นทัศนะคติแบบไตรภูมิฯ แบบเมียร์มาร์ อันหมายถึงพระจัทร์กับพระอาทิตย์

วัดยางกวง สืบสายมาจากวัดสวนดอก ประมาณ ๖๐๐ ปีที่แล้ว ซึ่งมีพระสงฆ์มากจากวัดสวนดอก เชียงใหม่มาสร้างและสืบทอดพระศาสนา สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนและยืนยันการมาของพระสงฆ์จากวัดสวนดอก เชียงใหม่ คือ พระเจ้าเกล็ดนาค จีวรขององค์พระที่แลดูคล้ายเกล็ดของพญานาคซึ่งจำลองมาจากพรุพุทธรูปที่วัดสวนดอก เชียงใหม่ กอปรกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในการเผยแผ่พระศาสนา

จากที่กล่าวมาทั้งหมด ทัศนะคติมหายานที่แฝงอยู่ในพระพุทธศาสนาเถรวาท ที่ปรากฏในเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศเมียร์มาร์ นั้น สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือทัศนะคติที่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าหรือพระเจ้านั้นมีชีวิตอยู่ โดบแสดงผ่านสัญญะคือพระพุทธรูปและผ่านพิธีกร อาทิเช่น การล้างหน้า แปรงฟัน การเช็ดหน้า การถวายอาหารแด่พระพุทธเจ้า สิ่งเหล่านี้คือจุดเริ่มต้นแห่งความอ่อนน้อมถ่อมตนและนำมาซึ่งเมตตาการุณาต่อสรรพสิ่ง โดยยืนอยู่พื้นฐานของปัญญา ซึ่งจะนำไปสู่ปัญญาอันสูงสุด อีกทั้งรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ต่างเป็นแรงเสริมให้ทั้งภาคปัญญาและภาคกรุณาเกื้อกูลกันเพื่อชีวิตที่ดีในโลกนี้และการเกิดใหม่ ตลอดจนการหลุดพ้น ตามคติทางพระพุทธศาสนา

ที่มา : lannatimes.wordpress.com


 

 



**************************************************
บริการจัดทัวร์ 
ทัวร์เชียงตุง ทัวร์เมืองยอง ทัวร์สิบสองปันนา ทัวร์คุนหมิงจีน ทัวร์หลวงพระบาง ทัวร์วังเวียงลาว ทัวร์มัณฑเลย์ ทัวร์พุกาม ทัวร์ทะเลสาบอินเล ทัวร์ตองจี ทัวร์รัฐฉาน

บริษัท เชียงตุงเรียลเอสเตท แอนด์ ทราเวล จำกัด
เลขที่ใบอนุญาต 21/00833
โทร : 092-891-2277,093-2537733,053-727255
ไลน์ไอดี : @chiangtung
เว๊ปไซค์ : Chiangtungbiz.com
youtube:http://bit.ly/2HDFdMO
 

บทความที่คุณอาจสนใจ

รัฐบาลได้จัดให้วังถนนพระอาทิตย์ เป็นที่พักของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในระหว่างปี พ.ศ. 2485-2490 ซึ่งใช้เป็นที่ทำการการผู้สำเร็จราชการ จนเป็นที่รู้จักในชื่อ ทำเนียบท่าช้าง

ความเป็นมา ชีวิต กวีเอกแห่งรัตนโกสิน จุดสูงสุด และต่ำสุด

อะไรคือสุดยอดของขลังที่ท่านขุนพันธ์ใช้สยบไสยดำ ของ อะแวสะดอ ตาและ ขุนโจรชาวมุสลิม ซึ่งเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญด้านไสยศาสตร์ มนต์ดำ ผู้มีสันดานโจน ใจคอโหดร้ายจนไม่มีผู้ใด กล้าแตะต้องไปหาคำตอบกับพวกเราทีมงานลักยิ้มได้เลยครับ

บริษัท ไชยนารายณ์ โกลเบิ้ล จำกัด

66 หมู่1 ถนนโชคชัย4 แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพ 10320

Tel ซื้อสินค้า : 063 5599 896

Tel ซื้อสินค้า : 092 891 2277

Tel ท่องเที่ยว :

Line ซื้อสินค้า : @chainarai

Line ท่องเที่ยว : @chainarai

Email : chainarai456@gmail.com

แผนที่

เพจ สิบสองปันนา หลวงพระบาง

เพจ เชียงตุง อยู่ดีกินหวาน